วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ก้าวแรก...ของศึกษานิเทศก์มือใหม่...กับอำเภออมก๋อย



เมื่อรู้ว่าได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมสนามสอบการจัดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อำเภออมก๋อย รู้สึกตื่นเต้นมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกในชีวิตที่จะได้ไปอมก๋อย อาจเป็นเพราะไม่ใช่คนเชียงใหม่โดยกำเนิดรับรู้ข้อมูลอำเภออมก๋อยจากสื่อทางโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต หน้าหนาวก็หนาวสุด หน้าฝนไม่ต้องพูดถึงโหดสุด ๆ และแล้ววันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ก็มาถึง พี่แอ๊ว ศน.ทิพวรรณ นามแก้ว ขับรถมารับที่สำนักงานเขตฯ เวลา 07.30 น. พี่แอ๊วบอกว่า เดี๋ยวเราขับรถไปจอดไว้ที่ปากทางพี่ให้ลูกศิษย์มารับเพื่อพาเราไปที่โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง พอได้ยินคำว่าแม่อ่างขางก็ยิ่งตื่นเต้นเพราะรู้มาว่าอยู่บนดอยสูงและต้องเป็นชาวเขาแน่เลย แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้ลูกศิษย์มารับพี่แอ๊วทำไมไม่ขับไปเอง พี่แอ๊วขับรถเก่งอยู่แล้ว แต่ก็เงียบไม่ถามอะไร เส้นทางขึ้นอำเภออมก๋อยเป็นเส้นทางขึ้นไปตามไหล่เขา คดเคี้ยวสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ พี่แอ๊วขับรถด้วยความชำนาญ เมื่อถึงปากทางเข้าหนองกระทิง ลูกศิษย์พี่แอ๊วชื่อว่าชัชวาล จอดรถรออยู่เป็นรถปิคอัพ ชัชวาลเป็นครูภูมิปัญญาไทยที่โรงเรียนบ้านทุ่งจำเริง มีหน้าที่สอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่ 1 – 3 ที่ใช้ภาษาถิ่นให้มีความเข้าใจในภาษาไทย เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาไม่เข้าใจครูที่ใช้ภาษาไทย เช่น ไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่กล้าถาม ไม่แน่ใจว่าครูให้ทำอะไร ครูชัชวาลจะต้องใช้ภาษาถิ่นอธิบายเพิ่มเติม โดยสอนประกบคู่กับครูสอนประจำการ หมู่บ้านทุ่งจำเริงเป็นหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงใช้ภาษาถิ่นในการพูดสื่อสารไม่มีภาษาเขียน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ซึ่งชัชวาลก็เป็นคนในหมู่บ้านนี้เช่นกัน แต่ชัชวาลพูดภาษาไทยได้ชัดมาก น่าเสียดายที่ชัชวาลบอกว่าโรงเรียนจะเลิกจ้างเนื่องจากไม่มีงบจ้างต่อ สพฐ.ตัดงบ
เมื่อเริ่มออกเดินทางจึงได้เข้าใจว่าทำไมพี่แอ๊วจึงให้ลูกศิษย์มารับก็เส้นทางที่จะไปโรงเรียนบ้านแม่อ่างขางเป็นถนนดินแดงมีหลุมบ่อหัวโยกไปมา พี่แอ๊วบอกว่ามีโหดกว่านี้อีกนี่ไม่เท่าไหร่ ในใจคิดว่า โอ้พระแม่เจ้ามีโหดกว่านี้อีกเหรอ! ถนนที่เป็นดินแดงประมาณ 17 กิโลเมตรก่อนถึงโรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง รถผ่านไปมาส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ พี่แอ๊วบอกว่าเมื่อก่อนต้องเดินเอา เวลาเดินจะเดินเรียงตามกันไปตามเส้นทางเล็ก ๆ หนทางชันขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้ามีแหล่งน้ำก็จะเห็นทางน้ำผ่าน ชัชวาลบอกว่าหน้าฝนรถจะติดหล่ม หรือไม่ก็ถนนขาด ในใจคิดว่า โอ้เมืองไทยเหมือนกันทำไมต่างกันเช่นนี้
ถึงโรงเรียนแม่อ่างขางจนได้ ประมาณ 10.30 น. เข้าพบ ผอ. วรสิทธิ์ ยาวิลาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง อำเภออมก๋อย ผอ.วรสิทธิ์เล่าให้ฟังเกี่ยวกับครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน พบว่าครูขาด 3 อัตรา ปัญหาที่หนักที่สุดคือการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากไม่มีครูผู้สอนตรงเอก และครูที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถสอนได้ อีกปัญหาหนึ่งคือโรงเรียนไม่มีไฟฟ้าใช้ การใช้ไฟฟ้าในโรงเรียนมาจากแผงโซล่าเซล ซึ่งจะเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้จากแสงแดด นั่นหมายความว่าถ้าวันไหนแสงแดดไม่มีก็ไม่มีพลังงานเก็บไว้ ทางแก้ปัญหาคือต้องเพิ่มแบตเตอรี่ที่จะเก็บพลังงานเพื่อให้พอใช้ แต่ต้องใช้งบประมาณมาก ต้องทำหนังสือไปที่กระทรวงพลังงาน แต่ ผอ.บอกว่า สิ่งที่ดีที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนมีความประพฤติเรียบร้อย ไม่มีปัญหาเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะนักเรียนมิได้เห็นสื่อไม่ได้ดูทีวี ไม่มีละคร ไม่มีอินเทอร์เน็ต เนื่องจากทั้งหมู่บ้านก็ใช้แผงโซล่าเซลเหมือนกัน