วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

การพัฒนาสมรรถภาพครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ โดยการประยุกต์ใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิค Coaching

โดย : นางสาวปาริชาติ เภสัชชา ผู้ฝึกประสบการณ์การนิเทศการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 E-mail : parichat_noina@hotmail.com
ที่ปรึกษา : ดร.สุภาภรณ์ กิตติรัชดานนท์ นางสาวอภิณญาณ บุญอุไร นางสุนิทรา พรมมล นางศิริกร ปวงคำคง
บทคัดย่อ
รายงานผลการนิเทศ เพื่อพัฒนาสมรรถภาพครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ โดยการประยุกต์ใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาสมรรถภาพครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ ด้านความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์หลังการนิเทศ 2) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อการนิเทศ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ของครูผู้รับการนิเทศ หลังการนิเทศโดยการประยุกต์ใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching
ประชากรที่ใช้ในการนิเทศในครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 จำนวน 251 คน และนักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 จำนวน 3,693 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการนิเทศครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบ้านฉิมพลี อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 จำนวน 3 คน นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 12 คนและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 9 คน โรงเรียนบ้านฉิมพลี อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 รวมทั้งสิ้น 21 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากสะดวกในการเก็บข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการนิเทศครั้งนี้ ประกอบด้วยเครื่องมือ 3 ประเภท ซึ่งเครื่องมือแต่ละประเภทประกอบด้วย 1) เครื่องมือสำหรับผู้ฝึกประสบการณ์การนิเทศ ได้แก่ แผนการนิเทศแบบ Coaching มีจำนวน 4 แผน 2) เครื่องที่ใช้ในการนิเทศสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก ก่อนและหลังการนิเทศแบบ Coaching ได้แก่ แบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจ เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ของครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก ก่อนและหลังการนิเทศแบบ Coaching และ แบบสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการนิเทศสำหรับนักเรียนโรงเรียนบ้านฉิมพลีได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์หลังครูผู้รับการเทศได้รับการนิเทศแบบ Coaching
จากผลการพัฒนาสมรรถภาพครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ โดยการประยุกต์ใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching ผู้ฝึกประสบการณ์การนิเทศการศึกษาได้นำประเด็นสำคัญที่พบจากการนิเทศมาอภิปรายผล โดยแบ่งเป็น 3 ตอน ตามวัตถุประสงค์ของการนิเทศ ดังนี้
ตอนที่ 1 การพัฒนาสมรรถภาพครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์
1.1 การทดสอบด้านความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ กับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 3 คน มีคะแนนเฉลี่ยก่อนการนิเทศแบบ Coaching พบว่า ผลการทดสอบหลังนิเทศแบบ Coaching สูงกว่าก่อนนิเทศแบบ Coaching อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เนื่องจากการนิเทศแบบ Coaching ของผู้นิเทศ เป็นกระบวนการปฏิบัติงานนิเทศการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้การช่วยเหลือครู ให้สามารถปฏิบัติงานด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ประสบผลสำเร็จมีประสิทธิภาพ
1.2 การสังเกตความสามารถในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ กับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 3 คน สามารถจัดการเรียนการสอนตามกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เนื่องจากเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching เป็นกระบวนการปฏิบัติงานนิเทศการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ผู้นิเทศในการช่วยเหลือครูผู้รับการนิเทศ ให้สามารถปฏิบัติงานด้านการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ประสบผลสำเร็จมีประสิทธิภาพ 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นก่อนการสอนแนะ (pre-coaching) 2) ขั้นการสอนแนะ (coaching) 3) ขั้นสรุปผลการสอนแนะ (post-coaching)
ตอนที่ 2 ความคิดเห็นของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อการนิเทศโดยการประยุกต์ใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching หลังจากจัดการเรียนการสอนตามกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ จากการสอบถามความคิดเห็นของครูผู้รับการนิเทศ 3 คน สรุปได้ดังนี้
2.1 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ทำให้นักเรียนสนใจบทเรียนมากขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับบทเรียนพร้อมกันได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว นักเรียนทุกคนในชั้นเรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ สนุกคิด สนุกทำ ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและกระตุ้นความสนใจได้เป็นอย่างดี
2.2 บทบาทของครูผู้สอนการสร้างบทเรียนสำหรับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เนื่องจากบทเรียนแบบมัลติพอยท์สร้างขึ้นจากโปรแกรมไมโครซอฟท์เพาเวอร์พอยท์ 2003 หรือ 2007 (Microsoft PowerPoint 2003/2007) ซึ่งเป็นโปรแกรมพื้นฐานที่ครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้งานได้ เมื่อเทียบกับการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทอื่น ๆ และที่สำคัญเมื่อพัฒนาบทเรียนออกมาแล้วไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากใช้งานยากและที่สำคัญบทเรียนคอมพิวเตอร์ที่ผลิตขึ้นมาส่วนใหญ่เป็นบทเรียนที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ด้วยตนเองและต้องใช้ 1 เครื่อง ต่อ 1 คน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่จะขาดแคลนงบประมาณ ไม่สามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ได้เท่ากับจำนวนนักเรียนทุกคนในห้องเรียน
บทเรียนแบบมัลติพอยท์เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์จะเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับบทเรียนพร้อมกันได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว การใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์จะสามารถรองรับเมาส์ของนักเรียนทุกคนได้พร้อมกัน นักเรียนทุกคนในชั้นเรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ สนุกคิด สนุกทำ ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและกระตุ้นความสนใจได้เป็นอย่างดี
2.3 กิจกรรมที่นำมาจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนสนใจบทเรียนมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม มีปฎิสัมพันธ์โต้ตอบ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแบบถูกผิด กิจกรรมเลือกตอบ กิจกรรมตอบสั้น ๆ กิจกรรมลากวาง หรือกิจกรรมวาดภาพ
2.4 การประเมินผลการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์สามารถประมวลผลทันที เมื่อนักเรียนแต่ละคนจะใช้เมาส์ของตนเองคลิกคำตอบที่ต้องการ ระบบซอฟต์แวร์จะประมวลผลว่า นักเรียนตอบถูกกี่คน ตอบผิด กี่คน และสรุปผลคะแนนนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูผู้สอนสามารถเก็บหน้าจอแสดงคะแนนไว้ได้
2.5 การนำกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching มาใช้ในการพัฒนาสมรรถภาพครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กในการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีมัลติพอยท์ พบว่า ครูผู้รับการนิเทศทุกคนมีความคิดเห็นว่า กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ฝึกประสบการณ์การนิเทศการศึกษา และครูผู้รับการนิเทศได้ดีมาก ครูผู้รับการนิเทศยอมรับว่าผู้ฝึกประสบการณ์การนิเทศการศึกษาเป็นผู้ร่วมวิชาชีพที่ช่วยพัฒนาวิชาชีพ เข้าใจว่าการนิเทศไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พร้อมแก้ปัญหาในการทำงานร่วมกับครูผู้รับการนิเทศ ครูผู้รับการนิเทศมีความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ว่าการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์จะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ขาดโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะกับโรงเรียนขนาดเล็ก อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบ ICT ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่มีครูไม่ครบชั้น ทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น และช่วยแก้ไขปัญหาครูที่มีภาระงานมาก ทำให้ไม่มีเวลาจัดเตรียมสื่อบทเรียน
ตอนที่ 3 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ของครูผู้รับการนิเทศ หลังการนิเทศโดยการประยุกต์ใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE และเทคนิคการนิเทศแบบ Coaching เนื่องจาก
3.1 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนในห้องเรียนมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับบทเรียนพร้อมกันได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ทำให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ สนุกคิด สนุกทำ เกิดความเข้าใจ และกระตุ้นความสนใจเป็นอย่างดี
3.2 การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์จะประมวลผลว่า นักเรียนตอบถูกกี่คน ตอบผิด กี่คน และสรุปผลคะแนนนักเรียนเป็นรายบุคคล

1 ความคิดเห็น: