วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

การพัฒนาชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์

โดย :นางสาวปาริชาติ เภสัชชา ผู้ฝึกประสบการณ์การนิเทศการศึกษา รุ่นที่ 3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5
E-mail : parichat_noina@hotmail.com
ที่ปรึกษา : ดร.สุภาภรณ์ กิตติรัชดานนท์ นางสาวอภิณญาณ บุญอุไร นางสุนิทรา พรมมล นางศิริกร ปวงคำคง
บทคัดย่อ
การพัฒนาชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบของครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกอบรม เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต่อชุดฝึกอบรม เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 251 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบ้านฉิมพลี จำนวน 3 คน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ปีการศึกษา 2553 ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เนื่องจากสะดวกในการเก็บข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนดำเนินงานการพัฒนาชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ จำนวน 1 แผน 2) ชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ประกอบด้วย คู่มือการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ บทเรียนโปรแกรมแบบมัลติพอยท์ เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ และหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ 3) แบบทดสอบความรู้ ความเข้าใจของครูผู้สอนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ เป็นข้อคำถาม จำนวน 30 ข้อ แบบเลือกตอบ (Multiple Choice)
จากผลการพัฒนาชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ผู้ฝึกประสบการณ์ได้นำประเด็นสำคัญที่พบจากการศึกษามาอภิปรายผล โดยแบ่งเป็น 3 ตอน ตามวัตถุประสงค์ของการศึกษา ดังนี้
ตอนที่ 1 จากทดลองใช้ประสิทธิภาพของชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 87.85/87.73 (E1 /E2) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ทั้งนี้เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาชุดฝึกอบรม ได้ผ่านการตรวจสอบความเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน แสดงให้เห็นว่า ชุดฝึกอบรมที่ผู้ฝึกประสบการณ์สร้างขึ้นสามารถที่จะใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ชุดฝึกอบรม มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. เนื้อหา ด้านชุดฝึกอบรมสำหรับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่อง การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ประกอบด้วยเนื้อหา 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ 1 เรื่อง เริ่มรู้จักกับเทคโนโลยีมัลติพอยท์ หน่วยที่ 2 เรื่อง การติดตั้ง Mischief หน่วยที่ 3 เรื่อง การสร้างบทเรียนด้วย Mischief และตอนที่ 4 เรื่อง การใช้โปรแกรม Mischief การวิเคราะห์เนื้อหาเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะเนื้อหาวิชาที่เหมาะสมจะทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ สำหรับปริมาณเนื้อหาวิชาที่เลือกใช้สำหรับเป็นสื่อจะพิจารณาเลือกเนื้อหาที่เข้าใจง่ายสามารถเห็นขั้นตอนการดำเนินการใช้งานได้ทันที (Step by Step)
2. สำนวนภาษา ภาษาที่ใช้ในชุดฝึกอบรม ผู้ฝึกประสบการณ์นิเทศได้ศึกษาจากคำศัพท์จากเอกสาร และเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ และได้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขจากศึกษานิเทศก์รุ่นพี่ จึงเป็นภาษาง่าย ๆ ชัดเจน ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นการนำเสนอในลักษณะบอกเล่าขั้นตอนทีละขั้น ทำให้อ่านง่าย ครูผู้สอนอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที
3. ภาพกราฟิกประกอบชุดฝึกอบรม เป็นภาพแสดงรายละเอียดตามข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ รูปภาพที่ใช้ทำให้ครูผู้สอนเห็นขั้นตอนที่ถูกต้องและช่วยให้เข้าใจได้เร็วยิ่งขึ้น
4. การออกแบบชุดฝึกอบรม เพื่อให้ครูผู้สอนมีทักษะกระบวนการการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ที่ชัดเจน ซึ่งแนวการจัดการเรียนรู้ให้ครูผู้สอนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดการปฏิบัติและการประยุกต์ความรู้ไปใช้ ครูผู้สอนทุกคนสามารถเลือกสร้างเนื้อหาวิชาตามความรับผิดชอบและความสนใจของครูผู้สอน

ตอนที่ 2 การทดลองใช้ชุดฝึกอบรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์กับครูผู้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 3 คน พบว่า ผลการทดลอบหลังการใช้ชุดฝึกสูงกว่าก่อนการใช้ชุดฝึกอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เนื่องจากชุดฝึกอบรมได้ผ่านกระบวนการสร้างและตรวจสอบความเหมาะสมจากศึกษานิเทศก์พี่เลี้ยง เป็นชุดฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ 87.85/87.73 (E1 /E2) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 มีการนำเสนอรายละเอียดที่จูงใจและชัดเจน เหมาะสม
ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อชุดฝึกอบรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ หลังจากได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3 คน โดยสอบถามความพึงพอใจหลังจากที่ได้ใช้ชุดฝึกอบรมไปแล้ว พบว่า ครูผู้สอนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดต่อชุดฝึกอบรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ ที่พัฒนาขึ้น
จากผลการศึกษารายงานครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าชุดฝึกอบรมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์เป็นนวัตกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ครูผู้สอนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีมัลติพอยท์ได้ เพราะเป็นชุดฝึกอบรมที่เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ให้กับครูผู้สอน จึงเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณคะ งานวิจัยเยี่ยมมาก ทำให้ดิฉันได้ใช้อ้างอิงในเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณม๊ากมากคะ

    ตอบลบ
  2. สวัีสดีค่ะอ.ปาริชาติ ดิฉันได้อ่านวิจัยของอ.แล้วรู้สึกสนใจมากค่ะอยากดูงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ค่ะไม่ทราบว่าอ.พอจะกรุณาได้ไหมค่ะ

    ตอบลบ